ประวัติโคมลอย


  
โคมลอย นิยมลอยกันในเทศกาลลอยกระทง ทางภาคเหนือเรียกว่าประเพณี ยี่เป็ง เป็นประเพณีลอยกระทงของชาวล้านนา ซึ่งหมายถึงวันเพ็ญเดือน 2 เป็นการนับเดือนตามจันทรคติ โดยคำว่า ยี่เป็ง เป็นภาษาเหนือ ยี่ แปลว่า สอง และคำว่า เป็ง ตรงกับคำว่า เพ็ง หรือ เพ็ญ หมายถึงพระจันทร์เต็มดวง คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 2 นั่นเอง
โคมลอย ที่คนท้องถิ่นล้านนาส่วนใหญ่เรียกติดปากว่า ว่าว สามารถแบ่งย่อยได้สองประเภท ได้แก่ โคมลอยกลางวัน (ว่าวโฮม-ว่าวควัน) กับ โคมลอยกลางคืน (ว่าวไฟ) นอกจากนี้ยังมีโคมแขวน ที่จัดเป็นโคมอีกชนิดเช่นกันเพียงแต่ใช้แขวนตามบ้านเรื่อนไม่ได้ใช้ลอย
โดยโคมที่ใช้ลอยกลางวันนั้น จะใช้กระดาษที่มีสีสันจำนวนหลายสิบแผ่นในการทำ เพื่อให้เห็นในระยะทางไกลแม้จะอยู่บนท้องฟ้า จะมีการตกแต่งด้วยการใส่หาง หรือขณะที่ทำการปล่อยมักใส่ลูกเล่นต่างๆเข้าไปด้วย เช่นใส่ประทัด ควันสี เครื่องบินเล็ก ตุ๊กตากระโดดร่ม เป็นต้น บางท้องที่นิยมใส่เงินลอยขึ้นไปอีกด้วย วิธีการปล่อย จะต้องใช้การรมควันให้เต็มโคม เมื่อได้ที่แล้วจึงปล่อย
ส่วนโคมลอย ที่ใช้ลอยกลางคืน นิยมใช้กระดาษสีขาว เนื่องจากจะโปร่งแสงเมื่อลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้ว ขนาดก็จะย่อมกว่าโคมลอยกลางวัน วิธีการปล่อยจะใช้เชื้อไฟ หรือขี้ไต้ จุดเพื่อให้ความร้อนส่งโคมลอยขึ้นบนฟ้า จะมีการเพิ่มเติมดอกไม้ไฟน้ำตก ดาวตก ประทัด เพื่อเพิ่มสีสันอีกด้วย
กุศโลบายของการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า ก็เพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รวมทั้งเชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ ให้ประสพแต่สิ่งดีงาม สร้างความสามัคคี และที่สำคัญเป็นการอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามที่สืบทอดมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย

No comments:

Post a Comment